02-301-2223 sale@pp.premier.co.th
PREMIER PRODUCTS PUBLIC COMPANY LIMITED
24/09/2021

ถังบรรจุเคมี เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย

ถังบรรจุเคมี เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย

คุณสมบัติของถังบรรจุเคมี เพื่อการจัดเก็บสารเคมีอันตรายอย่างปลอดภัย

อุตสาหกรรมเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการสั่งซื้อและนำเข้าสารเคมีเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งานในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในระหว่างการจัดเก็บสารเคมีก่อนการนำไปใช้งาน การเลือกใช้ถังบรรจุเคมีที่มีประสิทธิภาพและมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด จึงเป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมควรตระหนักและให้ความสำคัญเช่นเดียวกันกับการจัดการระบบป้องกันและระงับการเกิดอัคคีภัย เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน โดยคุณสมบัติที่เหมาะสมของถังบรรจุเคมี มีรายละเอียดดังนี้

 

1. ถังบรรจุเคมีมีความทนทานต่อสารเคมีอันตราย

โดยทั่วไปแล้วการออกแบบ การเลือกวัสดุ การสร้าง และการติดตั้งถังเก็บสารเคมีอันตราย จะต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) หรือวิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) หรือบุคคลอื่นที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือตามที่สภาวิศวกรกำหนด ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจในคุณสมบัติของสารเคมีอันตรายประเภทต่าง ๆ ที่จะนำมาจัดเก็บภายในถังบรรจุเคมีได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านสมบัติทางกายภาพ สมบัติทางเคมี สมบัติทางด้านสภาพแวดล้อม และความเป็นอันตรายจากการออกฤทธิ์ของสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความไวไฟ การกัดกร่อน หรือความเป็นพิษ เพื่อให้ได้ถังบรรจุเคมีที่มีคุณสมบัติทนทานต่อสารเคมีอันตรายและสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่ใช้สำหรับติดตั้งถังบรรจุเคมี

สำหรับการสร้างถังบรรจุเคมีสำหรับบรรจุสารที่มีคุณสมบัติไวไฟ และมีความเป็นพิษร้ายแรง จะนิยมเลือกใช้วัสดุที่เป็นเหล็กกล้าคาร์บอน (Carbon Steel) เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงและสามารถทนทานต่ออุณหภูมิสูงได้เป็นอย่างดี และสำหรับการสร้างถังเก็บสารเคมีที่มึคุณสมบัติในการกัดกร่อน จะนิยมใช้เป็นวัสดุที่เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมหรือสเตนเลส (Stainless Steel) และวัสดุไฟเบอร์กลาส (FRP: Fiberglass Reinforced Plastic) ในการผลิต เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน และมีคุณสมบัติในการทนทานต่อการกัดกร่อนจากสารเคมีได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้ถังบรรจุเคมีที่มึคุณสมบัติในการกัดกร่อนมักจะมีการเคลือบผิวภายในถังด้วยวัสดุประเภทเรซิน อย่างเช่น โนโวแลคฟีโนลิคอีพอกซี่ (Novolac Phenolic Epoxy), โพลีไอโซไซยาเนท เคียว อีพอกซี่ (PolyIsocyanate Cured Epoxy), อีพอกซี่ (Epoxy) และ ซิงค์ซิลิเกท (Zinc Silicate) ตามความเหมาะสมของประเภทของสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถัง เพื่อให้สามารถทนทานต่อการกัดกร่อนได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

2. ถังบรรจุเคมีได้มาตรฐานอุตสาหกรรม

สำหรับการออกแบบและการติดตั้งถังเก็บสารเคมีอันตรายในประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้มีการออกข้อกำหนดในเรื่องของมาตรฐานสำหรับถังบรรจุเคมีที่ชัดเจน ส่งผลให้การออกแบบและติดตั้งถังเก็บสารเคมีอันตรายโดยทั่วไปนั้นนิยมดำเนินการตามมาตรฐานสากล ซึ่งพิจารณาอ้างอิงจากมาตรฐาน API 650 : Welded Tanks for Oil Storage หรือคู่มือมาตรฐานการออกแบบ การสร้าง การติดตั้ง การใช้งาน การตรวจสอบ และการบำรุงรักษาถังเก็บสารเคมีอันตราย (Storage Tank) ประเภทสารไวไฟ สารกัดกร่อน หรือสารพิษ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีการจำกัดการอ้างอิงโดยการใช้มาตรฐานสากลอื่น ๆ ในการออกแบบ การสร้าง การติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานเยอรมัน DIN 16964, 16965, 16966, 16967 มาตรฐานอังกฤษ BSI (BRITISH STANDARD) มาตรฐานญี่ปุ่น JIS (JAPANESE INDUSTRIAL STANDARD) หรือมาตรฐานอเมริกา ASTM D 2996, ASTM D 3299, ASME ANSI, หรือ ASME RTP-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทางบริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการวิจัยและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละกระบวนการออกแบบ ผลิต และติดตั้งเมื่อมีการใช้มาตรฐานสากลอื่น ๆ ในการอ้างอิงนั้นจะต้องได้รับการลงนามรับรองโดยบุคคลที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือบุคคลที่ได้รับการรับรองตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

 

3. ถังบรรจุเคมีมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน

เพื่อความปลอดภัยในการออกแบบและการติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อการใช้งานสำหรับถังบรรจุเคมี กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าของถังบรรจุเคมีดังนี้

  • สำหรับถังบรรจุเคมีซึ่งเป็นสารกัดกร่อนและสารพิษ ให้ผู้ออกแบบพิจารณาข้อกำหนดตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน พ.ศ. 2550 และจะต้องได้รับการลงนามรับรองโดยบุคคลที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือบุคคลที่ได้รับการรับรองตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด
  • สำหรับถังบรรจุเคมีซึ่งเป็นสารไวไฟ ให้ผู้ออกแบบพิจารณาตามมาตรฐานการออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในพื้นที่อันตราย (Hazardous Zone) ซึ่งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้ในบริเวณที่มีการติดตั้งถังบรรจุเคมีไวไฟดังกล่าว จะต้องได้รับการออกแบบ ตามมาตรฐานรับรอง IEC/EN 60079 : Explosive Atmospheres, NFPA 70 NEC Article 500 หรือที่ได้รับการรับรองจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    • (1) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    • (2) Underwriters Laboratories, Inc. (UL)
    • (3) Electrical Equipment Certification Services (EECS)
    • (4) Physikalisch Technische Bundesanstalt (PTB)
    • (5) Laboratoire Central des Industries Electriques (LCIE)
    • (6) Centro Elettrotecnico Sperimentale Italiano (CESI)
    • (7) Canada Standard Association (CSA)
    • (8) Technology Institution of Industrial Safety (TIIS)
    • (9) สถาบันที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน IEC, NEC, NFPA, AP

 

สอบถามข้อมูล

 

4. ถังบรรจุเคมีมีการติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่า

การเกิดฟ้าผ่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อถังบรรจุเคมีที่มีการติดตั้งเอาไว้บริเวณภายนอกอาคารได้ ดังนั้นโรงงานอุตสาหกรรมจึงต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าในถังบรรจุเคมีที่ทำมาจากทั้งวัสดุที่ใช่และไม่ใช่โลหะ ผ่านการออกแบบระบบสายดินที่เป็นอิสระต่อกันอย่างน้อยถังละ 2 จุด ให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบและติดตั้งตามการออกแบบระบบป้องกันฟ้าผ่ามาตรฐาน IEC 62305-3 : Protection against lightning – Part 3 Physical damage to structures and life hazard, NFPA 780 : Standard for the Installation of Lightning Protection Systems หรือมาตรฐานสากลอื่น โดยต้องมีคำรับรองจากบุคคลที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือบุคคลที่ได้รับการรับรองตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

 

5. ถังบรรจุเคมีมีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการทำงานและอุปกรณ์ความปลอดภัย

เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในระหว่างการจัดเก็บสารเคมีก่อนการนำไปใช้งาน ถังบรรจุเคมีอันตรายจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับควบคุมการทำงาน และอุปกรณ์ความปลอดภัยที่มีความเหมาะสมกับประเภทของสารเคมีอันตรายที่บรรจุอยู่ภายในตัวถัง อย่างน้อยดังนี้

  1. อุปกรณ์วัดความดันภายในถัง (Pressure gauge, Manometer) เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดความดัน เพื่อการควบคุมและการตรวจสอบความผิดปกติของการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในถังบรรจุเคมี ซึ่งจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ มานอมิเตอร์แบบหลอดแก้ว และเกจวัดความดัน
  2. อุปกรณ์วัดระดับ (Level devices) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการวัดระดับของเหลวภายในถังให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
  3. อุปกรณ์เตือนและระบบป้องกันการล้น (Overfill Protection) เป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบระดับความสูงของสารเคมีภายในถังบรรจุเคมี ซึ่งสามารถคำนวณได้จากอัตราการไหลและอัตราการรับสารเคมีอันตรายเข้าถัง ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนอันตรายให้ผู้ปฏิบัติงานทราบได้หากสารเคมีดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะล้นถัง
  4. อุปกรณ์วัดอุณหภูมิสารเคมีอันตรายในถังเก็บ เป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นเป็นอย่างมากในการป้องกันและควบคุมไม่ให้สารเคมีอันตรายล้นถัง ในกรณีที่ความหนาแน่นของสารเคมีมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิ รวมถึงการป้องกันการสูญหายของสารเคมีจากการเปลี่ยนสถานะเป็นไอเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
  5. ช่องคนลอด (Manhole) เป็นช่องที่มีจำนวนอย่างน้อย 2 ช่องต่อถัง และถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความกว้างที่เพียงพอในการระบายไอสารเคมีอันตรายหลังจากการทำให้ถังว่างให้อยู่ในระดับปลอดภัย เพื่อให้ผู้ปฎิบัติงานสามารถลอดเข้าไปภายในตัวถังเพื่อทำการตรวจเช็กหรือซ่อมบำรุงได้
  6. อุปกรณ์ควบคุมความดันภายในถัง สำหรับควบคุมให้อากาศไหลเข้าแทนที่ของเหลวภายในถังที่ถูกจ่ายออกไป และควบคุมการระบายอากาศในถังออกสู่ภายนอกเมื่อมีการเติมสารเคมีเข้ามาภายในถัง
  7. อุปกรณ์ดักเปลวไฟ (Flame Arrester) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เปลวไฟที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้ภายนอกถังเก็บสารไวไฟย้อนกลับเข้าไปในถังที่มีไอระเหยและเชื้อเพลิงจำนวนมาก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรง
  8. อุปกรณ์ดักความชื้น เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการป้องกันไม่ให้สารเคมีที่มีความไวต่อปฏิกิริยากับความชื้นที่ถูกจัดเก็บอยู่ภายในถังบรรจุเคมี เกิดปฏิกิริยากับความชื้นซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  9. ระบบบำบัดไอระเหย เป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีการติดตั้งร่วมกับระบายความดันภายในถัง เพื่อป้องกันอันตรายของไอระเหยในระหว่างการจัดเก็บสารเคมีซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

6. ถังบรรจุเคมีมีการติดแผ่นโลหะเพื่อแสดงข้อมูลพื้นฐานของถัง

การติดแผ่นโลหะ (Name plate) บนถังบรรจุเคมีมักจะมีการติดตั้งในบริเวณที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสามารถสังเกตเห็นอย่างเด่นชัด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของตัวถัง รวมถึงเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับช่างและวิศวกรที่ต้องทำการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมหรือปรับปรุงถังเก็บสารเคมีในอนาคต

โดยแผ่นโลหะมักจะมีการแสดงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นของถังบรรจุเคมี ดังนี้

  1. ประวัติถัง : ผู้ผลิตหรือผู้ติดตั้ง และปีที่สร้างเสร็จ
  2. ขนาดของถัง : เส้นผ่าศูนย์กลาง (Nominal Diameter), ความสูง (Normal Height), และความจุสูงสุด (Maximum Capacity)
  3. คุณสมบัติทางกายภาพ : ค่าความถ่วงจำเพาะในการออกแบบ (Design Specific Gravity), ความดันในการออกแบบ (Design Pressure), อุณหภูมิสูงสุดในการออกแบบ (Maximum Design Temperature), ความสูงในการออกแบบของของเหลวในถัง (Design Liquid Level), และวัสดุที่ใช้ทำถัง (Material) เป็นต้น

สำหรับลูกค้าท่านไหนที่มีความสนใจในและต้องการสั่งซื้อถังบรรจุเคมี ที่ผลิตจากวัสดุไฟเบอร์กลาส (FRP: Fiberglass Reinforced Plastic) ด้วยระบบ Auto Spray และ Filament Winding ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย และได้มาตรฐานความแข็งแรงทนทานต่อสารเคมีตามมาตรฐานการทดสอบทางวิศวกรรม

  • การทดสอบแรงดันภายนอก ตามมาตรฐาน JIS A4101, ASTM D2412
  • การทดสอบแรงดึง ตามมาตรฐาน ASTM D638
  • การทดสอบแรงดัด ตามมาตรฐาน ASTM D790
  • ออกแบบโครงสร้างของตัวมาตรฐาน ASME RTP-1, BS 4994, ASTM D3299, JIS K7012

สามารถสอบถามข้อมูลหรือดูรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติม บมจ.พรีเมียร์ โพรดักส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบบำบัดน้ำเสีย ถังบำบัดน้ำเสีย SATS ระบบสำรองน้ำ รวมไปถึงถังเก็บน้ำต่าง ๆ ก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบตามความต้องการทั้งถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาสและถังเก็บน้ำพลาสติกคุณภาพ และ ถังเก็บสารเคมี เพื่อการออกแบบหรือกำหนด Specification ให้เหมาะสมกับการใช้งานตั้งแต่การกำหนดรูปแบบ ขนาด สีตัวถัง รวมถึงชนิดของเรซินสำหรับการบรรจุสารเคมีแต่ละชนิดได้ที่ :

บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน)
โทร : 02-301-2223
E-Mail : sale@pp.premier.co.th
Line : @pp.wtprofessional
Website : https://www.premier-products.co.th/product/chemical-resist-tank/