02-301-2223 sale@pp.premier.co.th
PREMIER PRODUCTS PUBLIC COMPANY LIMITED
20/10/2021

ทำความรู้จักกับกระบวนการปรับคุณภาพน้ำทิ้ง

ทำความรู้จักกับกระบวนการปรับคุณภาพน้ำทิ้ง

การปรับคุณภาพของระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงงาน และโรงพยาบาล

 

ปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากการขาดความรู้และความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้แหล่งน้ำเกิดการเน่าเสีย เกิดจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของชุมชนและพื้นที่สำหรับการทำอุตสาหกรรมจนทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเรามักจะพบว่าน้ำเสียส่วนใหญ่นั้นมักจะผ่านการบำบัดในขั้นต้นมาแล้ว แต่อย่างไรก็การบำบัดในขั้นต้นนั้นนับว่ายังไม่เพียงพอที่จะให้ความสกปรกของน้ำเสียในรูปของสารอินทรีย์ลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

 

ส่งผลให้การปรับคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงงาน และโรงพยาบาล จำเป็นที่ต้องอาศัยการบำบัดน้ำเสียในขั้นสูง (Advance Treatment หรือ Tertiary Treatment) ซึ่งเป็นกระบวนการกำจัดสารอาหารประเภทไนโตรเจนและฟอสฟอรัส รวมถึงสี สารแขวนลอยที่ตกตะกอนยาก และสารหรือวัตถุอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ถูกกำจัดโดยกระบวนการบำบัดขั้นต้นและกระบวนการบำบัดขั้นที่สอง เพื่อเป็นการช่วยในการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีเพียงพอก่อนการนำไปทิ้งลงในแหล่งรับน้ำสาธารณะ หรือเพื่อที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของสาหร่าย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำเกิดการเน่าเสียได้ โดยกระบวนการสำหรับการปรับคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงงาน และโรงพยาบาล สามารถทำได้ดังนี้

 

การทำให้เป็นกลาง (Neutralization)

การทำให้เป็นกลาง เป็นการปรับปรุงคุณภาพของน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียให้มีความเป็นกรด-ด่าง หรือที่เรียกว่าพีเอช (pH) ให้อยู่ในค่าที่เป็นกลางในช่วง pH 5-9 ก่อนการนำไปทิ้งลงยังแหล่งรับน้ำสาธารณะ ตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงโรงพยาบาล และสถานพยาบาล เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งน้ำไม่ให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็น ซึ่งเป็นปัญหาที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้

 

โดยทั่วไปแล้ว น้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียนั้นจะมีค่า ค่า pH อยู่ในช่วง 6.5-8.5 ส่งผลให้ต้องมีการนำน้ำทิ้งดังกล่าวไปเข้าสู่กระบวนการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีค่า pH ต่ำหรือมีความเป็นกรดมาก จะต้องถูกนำไปปรับสภาพด้วยการใช้ด่างเพื่อให้มีค่าความเป็นเบสสูงขึ้น โดยด่างที่นิยมนำมาใช้ปรับคุณภาพน้ำเสีย ได้แก่ โซดาไฟ (NaOH) ปูนขาว (CaO) และแอมโมเนีย (NH3) เป็นต้น และสำหรับน้ำทิ้งที่มีค่า pH สูงหรือมีค่าความเป็นเบสมาก จะถูกนำมาทำการปรับสภาพให้มีความเป็นกรดเพื่อให้ได้ค่าที่อยู่ในช่วงตรงกลาง ด้วยการใช้กรด ได้แก่ กรดกำมะถัน (H2SO4) กรดเกลือ (HCL) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นต้น

 

การทำลายเชื้อโรค (Disinfection)

การออกแบบ ติดตั้ง ระบบบําบัดน้ำเสียเพื่อการทำลายเชื้อโรคถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญก่อนการนำน้ำไปทิ้งลงในแหล่งรับน้ำสาธารณะ เพื่อการป้องกันและทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ในน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงงาน และโรงพยาบาล ไม่ให้เชื้อดังกล่างเกิดการแพร่กระจายออกสู่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ และป้องกันการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารในแหล่งรับน้ำสาธารณะ โดยสารเคมีที่นิยมนำมาใช้ในการกำจัดเชื้อโรคในน้ำทิ้ง รวมถึงการกำจัดกลิ่น และการกำจัดโลหะที่ไม่ต้องการออกไป มีดังนี้

 

  • คลอรีน การเติมคลอรีน หรือที่เรียกว่ากระบวนการ Chlorination ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการในการฆ่าเชื้อโรคที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นสารฆ่าเชื้อที่มีความปลอดภัยสูง เพราะสามารถสลายตัวได้อย่างรวดเร็วในธรรมชาติโดยประเภทของคลอรีนที่นิยมใช้เพื่อการฆ่าเชื้อโรคได้แก่ ก๊าซคลอรีน(Cl2), แคลเซียมไฮโปคลอไรท์ [Ca(OCl)2], โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl), และคลอรีนไดออกไซด์ (ClO2) เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวเป็นสารเคมีที่มีความสามารถในการออกซิไดส์สูง จึงทำให้สามารถทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการทำลายระบบเอนไซม์และทำลายระบบการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อโรค และสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังแหล่งรับน้ำสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    สอบถามข้อมูล

    นอกจากนี้คลอรีนยังมีความสามารถในการออกซิไดส์เหล็ก แมงกานีส ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และสารอินทรีย์บางชนิด อีกทั้งยังสามารถควบคุมการเกิดสาหร่ายทะเล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำเกิดการเปลี่ยนสีและส่งกลิ่นเน่าเหม็นรบกวนพื้นที่ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงได้

  • โอโซน (O3) โอโซนถือได้ว่าเป็นสารออกซิไดซ์ที่รุนแรงจึงทำให้สามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อการบำบัดมลพิษ สี กลิ่น รวมถึงเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัส ที่เป็นเชื้อก่อโรคได้อีกหลายชนิด อีกทั้งโอโซนยังมีคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยสามารถสลายตัวได้ง่าย รวมถึงสามารถเปลี่ยนเป็นออกซิเจนได้เมื่อสัมผัสกับสารรีดิวส์หรือการใช้โลหะทรานซิชั่นเป็นตัวเร่ง จึงทำให้การใช้โอโซนบำบัดน้ำทิ้งสามารถช่วยเติมอากาศในแหล่งน้ำแบบทางอ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การตกตะกอนด้วยการใช้สารเคมี (Chemical Coagulation หรือ Precipitation)

การตกตะกอนด้วยการใช้สารเคมีเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพของน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีการเติมสารเคมี (Coagulant) ลงไปในน้ำทิ้งเพื่อทำให้สารแขวนลอยประเภทที่ตกตะกอนยากที่ยังหลงเหลืออยู่ในน้ำทิ้ง เกิดการเปลี่ยนสถานะทางกายภาพจากการเป็นของแข็งแขวนลอยที่มีขนาดเล็ก ให้กลายมาเป็นก้อนสารขนาดใหญ่ที่เกิดจากการจับตัวกันแล้วตกลงไปยังก้นถัง หรือที่เรียกว่ากระบวนการ Flocculation ซึ่งวิธีการตกตะกอนด้วยการใช้สารเคมีนั้นเหมาะสำหรับการนำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพของน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ในกรณีที่น้ำทิ้งยังคงมีสารแขวนลอยที่มีประจุลบหลงเหลืออยู่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการปนเปื้อนของดินเหนียวในน้ำทิ้ง ซึ่งไม่สามารถเกิดการตกตะตอนด้วยตัวเองได้ ทำให้การออกแบบ ติดตั้ง ระบบบําบัดน้ำเสียก่อนการทิ้งน้ำลงในแหล่งรับน้ำสาธารณะจึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบขั้นตอนในส่วนของการเติมสารเคมีที่มีประจุบวก เช่น สารส้ม และเกลือเหล็ก ลงไป เพื่อทำให้น้ำทิ้งเกิดความเป็นกลาง เพื่อให้ดินเหนียวเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนแล้วตกลงไปที่ก้นถังนั่นเอง

 

การบำบัดด้วยบ่อแอโรบิค (Aerobic Pond)

การปรับคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงงาน และโรงพยาบาลด้วยการใช้ระบบบ่อแอโรบิค หรือระบบบำบัดแบบใช้อากาศ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการออกแบบ ติดตั้ง ระบบบําบัดน้ำเสียเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับความสกปรก และสารอินทรีย์ชนิดที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในน้ำทิ้ง (Effluent) โดยการบำบัดด้วยบ่อแอโรบิคจะเป็นการบำบัดน้ำทิ้งด้วยการใช้แบคทีเรียและสาหร่ายแขวนลอยอยู่ภายในบ่อที่มีความลึกไม่มากนัก เพื่อให้ออกซิเจนสามารถกระจายไปได้อย่างทั่วถึงทั้งบ่อ เพื่อให้บ่อสามารถคงสภาพความเป็นแอโรบิคตลอดความลึก โดยการอาศัยออกซิเจนที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย รวมถึงออกซิเจนที่มาจากการเติมอากาศที่บริเวณผิวบ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทิ้งดังกล่าวเกิดการเน่าเสียเมื่อเกิดการนำไปทิ้งลงในแหล่งรับน้ำสาธารณะ อีกทั้งยังเป็นการช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำทิ้งได้ส่วนหนึ่งจากการอาศัยแสงแดดอีกด้วย

 

สำหรับลูกค้าท่านไหนที่สนใจบริการดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย สามารถติดต่อ ได้ที่ บมจ.พรีเมียร์ โพรดักส์ ในฐานะผู้ผลิตและให้บริการด้านระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงพยาบาล โรงงาน และหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 45 ปี ยินดีให้คำแนะนำและพร้อมดูแลคุณ

 

บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน)
โทร : 02-301-2223
E-Mail : sale@pp.premier.co.th
Line : @pp.wtprofessional
Website : https://www.premier-products.co.th/products/waste-water-treatment-tank/