02-301-2223 sale@pp.premier.co.th
PREMIER PRODUCTS PUBLIC COMPANY LIMITED

วิเคราะห์การดำเนินงานและฐานะการเงิน

               1. วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงานสำหรับงวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ของบริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสำหรับงวดจำนวน 91.78 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนลดลง 41.05 ล้านบาท ด้วยบริษัทย่อยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปีก่อน ผลการปรับปรุงเปลี่ยนแผงโซล่าร์เซลล์ดังกล่าวทำให้รายได้จากการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นและมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น บริษัทย่อยจึงได้ดำเนินการต่อเนื่องในการปรับปรุงประสิทธิภาพแผงของโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ดังนั้น บริษัทย่อยจึงตั้งด้อยค่าของแผงโซล่าร์เซลล์ที่จะถูกถอดออกจำนวน 91.46 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ด้อยค่าของแผงที่ที่ถูกถอดออกมีจำนวน 135.18 ล้านบาท  มูลค่าสำรองด้อยค่าของแผงโซล่าร์เซลล์ในงวดปัจจุบันลดลงจากปีก่อน 43.72 ล้านบาท จึงทำให้ผลขาดทุนลดลงจากปีก่อน รายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในงวด สรุปได้ดังนี้

            รายได้จากการขายและบริการของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 1,100.09 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 86.77 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.6

            สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการทุกผลิตภัณฑ์รวม จำนวน 971.30     ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 99.20 ล้านบาท โดยมาจากการขายผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำมียอดขายจำนวน 538.66 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 36.69 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์โซล่าร์รูฟมียอดขายจำนวน 287.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 124.15 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างมียอดขายจำนวน 144.99 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 61.65 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจำนวน 227.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.36 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 23.40 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.67

            สำหรับส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท มีรายได้จากการขายมีจำนวน 129.85 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย รายได้จากการขายไฟฟ้าจำนวน 91.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 19.03 ล้านบาทสาเหตุมาจาก จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า ประกอบกับอัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้นจากการปรับค่า Ft  และรายได้จากการขายไฟฟ้า – เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) มีจำนวน 38.44 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 75.21 ล้านบาท เนื่องจากสัญญาส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าครบกำหนดในเดือนเมษายน 2566 จึงทำให้มีรายได้ส่วนนี้ลดลงจากปีก่อน 56.18 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยก่อนรายการด้อยค่าของแผงโซล่าร์เซลล์ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีกำไรจำนวน 45.78 ล้านบาท กำไรลดลงจากปีก่อน 21.94 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้ของเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ลดลงเป็นหลัก

            ต้นทุนในการจัดจำหน่ายของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 151.48 ล้านบาทซึ่งเป็นของบริษัท ลดลงจากปีก่อน 3.42 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายของฝ่ายขายและการตลาดที่ลดลง สัดส่วนต้นทุนในการจัดจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 15.60 จากยอดขาย ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 17.76 จากยอดขาย

            ค่าใช้จ่ายในการบริหารมีจำนวน 140.98 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 8.58 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายบุคลากร เงินบริจาค และค่าเบี้ยประกันภัย

             รายได้อื่นของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 8.32 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 1.12 ล้านบาท จากการขายแผงโซล่าร์เซลล์ที่ถอดออกมาจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผง การขายคาร์บอนเครดิต และการขายเศษวัสดุ 

              ต้นทุนทางการเงินของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 5.13 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 0.86 ล้านบาท จากจำนวนเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

              ผลขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 ( TFRS9) มีจำนวน 5.02 ล้านบาท ลดจากปีก่อนจำนวน 1.14 ล้านบาท 

              ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 3.86 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่เกิดจากการคำนวณภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี

                2. ปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่อาจมีผลต่อฐานะการเงิน หรือการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต (Forward Looking)

              ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 เริ่มฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้บรรเทาลง ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ โครงการลงทุนของภาคเอกชนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีโครงการใหม่ แต่กำลังซื้อจากผู้บริโภคโดยทั่วไปยังคงถูกกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจจึงไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ สำหรับสถานการณ์การเมือง ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จึงเป็นโอกาสดีของโครงการลงทุนจากภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยเสริมกำลังซื้อและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามอัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีความผันผวนสูงมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า เช่น เรซิ่น ใยแก้ว เหล็ก แผงโซล่าร์และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าเพื่อควบคุมต้นทุนสินค้าให้ได้มากที่สุด

              สำหรับในปี 2567 ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีกว่าปีก่อน จากภาวะเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคอื่นเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจเริ่มได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างสูงจากการปลดล๊อควีซ่าที่เดินทางเข้าประเทศไทยให้กับหลายประเทศ ส่งผลให้ภาคบริการ ธุรกิจโรงแรมได้มีการปรับปรุง Facility และ Renovate เพื่อรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์บริการ การปรับปรุงระบบบำบัดน้ำ ในกลุ่มลูกค้าโรงแรม รีสอร์ท เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น อีกทั้งภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงและโลกร้อนมีผลให้ภาครัฐมีโครงการลงทุนเพื่อบรรเทาภัย  ซึ่งเป็นโอกาสดีของบริษัทในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ เพื่อการจัดการน้ำ บรรเทาภัยแล้ง นอกจากนั้น ยังรวมถึงการตลาดที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย การบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มลูกค้าอาคารขนาดใหญ่ที่มีความต้องการบูรณะปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เดิมและนำน้ำมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น โครงการคอนโดมิเนียมที่มีอายุมาก เป็นต้น และขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

              บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนการตลาดผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากโครงการอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตเสริมใยแก้ว (Glass Reinforced Concrete) มีตลาดหดตัวและวัสดุทดแทน โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ล่าช้า ราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้างมีความผันผวนสูง อัตราค่าแรงของแรงงานที่สูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานทำให้โครงการก่อสร้างบางโครงการล่าช้าส่งผลกระทบต่อการควบคุมต้นทุนโครงการ

             ผลิตภัณฑ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ยังคงมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก จากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการผลิตพลังงานทางเลือกเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน การส่งเสริมการลงทุน ราคาอุปกรณ์และแผงโซล่าร์เซลล์ที่มีราคาถูกลง และอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงการให้ภาคเอกชนมีความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

             สำหรับส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทย่อย ยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ทั้ง 3 โรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทย่อย นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังการผลิตใหม่ๆที่หน่วยงานภาครัฐจะจัดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานทดแทนอื่นๆเพิ่มขึ้น หรือการขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าอื่นๆที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน อีกทั้งจากประสบการณ์อันยาวนานในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัทย่อยยังมีโอกาสการเพิ่มรายได้จากการให้บริการดูแลรักษาระบบปฏิบัติการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่สนใจรับบริการ

รายได้จากการขายและบริการ (หน่วย : ล้านบาท)
2566
2565
เพิ่ม(ลด)
1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำ
538.66
501.97
36.69 7.31%
2.กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม*
432.64
370.14
62.50 16.89%
-ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง
144.99
206.64
(61.65) (29.83%)
-ผลิตภัณฑ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
287.65
163.50
124.15 75.93%
2.กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด**
129.85
186.03
(56.18) (30.20%)
หัก รายการระหว่างบริษัทและบริษัทย่อย
(1.06)
(44.82)
43.76 97.63%
รวมรายได้จากการขายและบริการ
1,100.09
1,013.32
86.77 8.56%

คำอธิบายรายการในงบแสดงฐานะการเงินที่สำคัญ

ฐานะการเงิน  ณ วันที่  31 ธันวาคม 2566

            ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 1,311.48 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนจำนวน 73.48 ล้านบาท หนี้สินรวม 410.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนจำนวน 49.04 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 900.59 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนจำนวน 122.51 ล้านบาท รายการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่สำคัญดังนี้

สินทรัพย์

  1. ณ 31 ธันวาคม 2566 สินทรัพย์หมุนเวียนมีจำนวน 419.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 57.77           ล้านบาท เนื่องจาก
  • ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้หมุนเวียนอื่นมีจำนวน 195.58 ล้านบาท ลดลง 15.20 ล้านบาท จากลูกหนี้การค้าของบริษัทย่อย โดยระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยปี 2566 และปี 2565 เท่ากับ 78.42 และ 80.06 วัน ตามลำดับ 
  • สินค้าคงเหลือมีจำนวน 127.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 10.52 ล้านบาท เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 18.58 ล้านบาท วัตถุดิบและวัสดูอื่นเพิ่มขึ้น0.72  ล้านบาท งานระหว่างทำลดลง 0.38 ล้านบาท และสินค้าระหว่างทางลดลง 8.40 ล้านบาท โดยระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย ปี 2566 และปี 2565 เท่ากับ 59.65  วัน และ 71.19 วัน ตามลำดับ
  • สินทรัพย์ที่เกิดจากสัญญา – หมุนเวียน มีจำนวน 48. 00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.00 ล้านบาท เป็นงานโครงการระหว่างก่อสร้างรอส่งมอบ
  • ต้นทุนในการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญาที่ทำกับลูกค้ามีจำนวน 20.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 3.10 ล้านบาท

 

2. สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนมีจำนวน 891.89 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 131.25 ล้านบาท เนื่องจาก

  • ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มีจำนวน 743.44 ล้านบาท ลดลง 137.29 ล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ในงวด 63.39 ล้านบาท รายการด้อยค่าของแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 91.46 ล้านบาท ในงวด ซื้อสินทรัพย์อุปกรณ์โรงไฟฟ้า อุปกรณ์โรงงาน เครื่องตกแต่งและเครื่องใช้สำนักงาน และแม่พิมพ์ จำนวน 9.63 ล้านบาท และงานระหว่างก่อสร้าง จำนวน 7.98 ล้านบาท และรายการตัดจำหน่ายทรัพย์สินมูลค่าสุทธิ 0.05 ล้านบาท 
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีจำนวน 24.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 8.13 ล้านบาท จากการลงทุนระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบงานและปรับขั้นตอนการปฏิบัติงาน( Business Process) ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนา (Implement) ส่วนของบริษัทย่อยเริ่มพร้อมใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
  • เงินประกันผลงานมีจำนวน 20.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.82 ล้านบาท
  • สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นมีจำนวน 10.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.48 ล้านบาท จากภาษีเงินได้ถูกหัก ณ ที่จ่าย    

หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น

    (1) บริษัทและบริษัทย่อยมีหนี้สินรวม 410.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนจำนวน 49.04 ล้านบาทเนื่องจาก 

  • เงินเบิกเกินบัญชีธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินมีจำนวน 105.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนจำนวน 60.00 ล้านบาท เป็นการกู้ยืมเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท   
  • เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่นมีจำนวน 174.76 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนจำนวน 8.55       ล้านบาท จากเจ้าหนี้การค้าลดลง 11.06 ล้านบาท เจ้าหนี้หมุนเวียนอื่นลดลง 0.46  ล้านบาท ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายลดลง 4.96 ล้านบาท และเงินมัดจำรับเพิ่มขึ้น 7.93 ล้านบาท 
  • หนี้สินที่เกิดจากสัญญา – หมุนเวียน มีจำนวน 18.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนจำนวน 3.25 ล้านบาท จากต้นทุนของผู้รับเหมาของงานโครงการ 
  • หนี้สินตามสัญญาเช่าทั้งในส่วนที่ถึงกำหนด 1 ปี และส่วนที่เกินกำหนด 1 ปี เป็นการรับรู้หนี้สินตามสัญญาเช่าตลอดอายุสัญญา ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า 
  • หนี้สินหมุนเวียนอื่น มีจำนวน 28.72 ล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปีก่อนจำนวน 4.04 ล้านบาท จากเงินรับค่าเวนคืนที่ดิน 2.10 ล้านบาท เงินประกันผลงานเพิ่มขึ้น 3.97 ล้านบาท และภาษีขายรอรับชำระลดลง 2.09 ล้านบาท

(2) ส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 900.59 ล้านบาท แยกออกเป็นส่วนของบริษัทจำนวน 752.65 ล้านบาท และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย 147.94 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทลดลงจากปีก่อนจำนวน 82.09 ล้านบาท เนื่องจากผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในงวด และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย ลดลง 40.42 ล้านบาท มาจากการจ่ายปันผลของบริษัทย่อย และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในงวด

การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด

             กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ในปี 2566 มีจำนวน 19.63 ล้านบาท จากการดำเนินงานและการบริหารเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทย่อยเป็นหลัก 

            กระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 24.97 ล้านบาท จากการซื้อทรัพย์สิน 17.61 ล้านบาท การลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ระบบ ERP  9.27 ล้านบาท และรายการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ 1.25 ล้านบาท 

            กระแสเงินสดได้มาจากกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 16.99 ล้านบาท จากการเบิกเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 60 ล้านบาท การจ่ายเงินปันผลของบริษัทย่อยให้แก่ส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 29.28 ล้านบาท และการชำระหนี้สินตามสัญญาเช่า 8.64 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 5.09 ล้านบาท 

           เงินสดเพิ่มขึ้นระหว่างปี 11.65 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทและบริษัทย่อยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด  ณ 31 ธันวาคม 2566 เท่ากับ 14.44 ล้านบาท